ใช่ว่า จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง อย่างเชียงราย จะมีจุดเที่ยวแบบวัดพุทธศิลป์ อย่างวัดร่องขุ่น เท่านั้น ที่ๆ แอดมินจะแนะนำ ในโพสต์นี้ จะพามาทั้งไหว้สักการะ และ ชื่นชมวัดงามอีกแห่ง วัดแห่งนี้ ชื่อว่า วัดร่องเสือเต้น จัดเป็นวัดเชิงพุทธศิลป์ อีกแห่งในไทย
ประวัติต้องรู้ก่อนไป
วัดร่องเสือเต้น เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก ในต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ถือเป็นวัดเก่าแก่ เดิมเป็นวัดร้าง แต่ต่อมา ชาวบ้านแถวนั้น ต้องการหาที่ทำบุญตามแบบชาวพุทธ แต่ไม่มีสถานที่ให้ทำ จึงร่วมกันบูรณะวัดร้างแห่งนี้ และตั้งชื่อว่า วัดร่องเสือเต้น
เหตุที่ให้ตั้งชื่อนี้ เพราะในละแวกนั้น สมัยก่อนมีสัตว์ป่าจำนวนมากโดยเฉพาะเสือ และมักเห็นเสือกระโดดข้ามร่องน้ำไปมา จึงเรียกบริเวณนี้ต่อ ๆ กันมาว่า … ร่องเสือเต้น … และเป็นที่มาของชื่อวัดจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับอนุญาตตั้งวัดเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2558
ไฮไลท์ของวัดที่ต้องไป
จุดดึงดูดที่ทำให้นักท่องเที่ยว ไปยังวัดแห่งนี้ ก็คือ วิหารสีฟ้า สร้างโดยศิษย์อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ชื่อ นายพุทธา กาบแก้ว หรือที่คนรู้จักในนาม สล่านก
วิหารแห่งนี้ เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2548 เสร็จเมื่อ วันที่ 22 ม.ค. 2559 ร่วมใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จถึง 11 ปี
วิหารวัดมีขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 48 เมตร ตัววิหารใช้สีน้ำเงินตัดกับสีทอง ดูงดงามมาก ด้านหน้าวิหารมีพญานาคตัวใหญ่ 2 ตัว อยู่คู่กัน เป็นการเอารูปแบบผลงานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี นำมาประยุกต์
ภายในประดิษฐานพระประธานนามว่า พระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ เป็นพระพุทธรูปสิงห์หนึ่งสีขาวมุก ขนาดหน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 6.5 เมตร โดยมีพระรอดลำพูน จำนวน 88,000 องค์ และแก้วแหวนเงินทองหลายสิ่งถูกฝังอยู่ใต้พระพุทธรูปองค์นี้ รวมทั้งบริเวณพระเศียรก็ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ด้านหลังวิหารมีพระพุทธรูปสีขาวองค์ใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติสูงเทียบเท่ากับวิหารตัดกับสีน้ำเงินฟ้าสลับทอง
แกลลอรี่ภาพ วัดร่องเสือเต้น เชียงราย
คลิกที่ภาพ เพื่อขยายภาพดูภาพใหญ่ของ วัดพุธศิลป์ วัดร่องเสือเต้น ได้เลยคร๊า
รายละเอียดการไปวัดร่องเสือเต้น
ที่อยู่ : 306 หมู่ที่ 2 ถนนแม่กก ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย เชียงราย 57100
วันเวลาเปิด – ปิด : ทุกวัน 7.00 น. – 20.00 น.
โทร : 064 347 3636
Facebook ของวัด : https://www.facebook.com/RSTBlueTemple
หมุดแผนที่ : https://goo.gl/maps/fFXATKA6htBT5e5L8
แผนที่ไปวัดร่องเสือเต้น
ที่มาข้อมูลและภาพบางภาพ : canva , WIkipedia